การวิจัยเรื่องปัจจัยที่มีผลต่อภาวะขาดออกซิเจนในทารกแรกเกิด เป็นการวิจัยเชิงวิเคราะห์แบบย้อนหลัง โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาอัตราการเกิดภาวะขาดออกซิเจนในทารกแรกเกิด และวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะขาดออกซิเจนในทารกแรกเกิด กลุ่มตัวอย่างคือมารดาที่คลอดในโรงพยาบาลปราสาท ที่คลอดบุตรมีคะแนน Apgar score น้อยกว่าหรือเท่ากับ 7 ทุกราย จำนวน 53 ราย และสุ่มอย่างง่ายแบบมีระบบ ในมารดาที่คลอดบุตรมีคะแนน Apgar score มากกว่า 7 จำนวน 106 ราย รวมทั้งหมด 159 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ แบบบันทึกข้อมูลตัวแปรต่างๆ จำนวน 11 ตัวแปร เก็บรวบรวมข้อมูลย้อนหลัง จากประวัติผู้ป่วยใน และ ทะเบียนคลอด ในมารดาที่คลอดตั้งแต่ 21 ตุลาคม 2549 – 20 กันยายน 2550 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา ได้แก่ จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติวิเคราะห์ได้แก่ Chi – Square กำหนดระดับความมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
ผลการวิจัยพบว่า อัตราการเกิดภาวะขาดออกซิเจน เท่ากับ 39.52:1,000 การเกิดมีชีพ ปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดภาวะขาดออกซิเจนในทารกแรกเกิดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติคือ ระยะเวลารอคลอด น้ำหนักทารกแรกเกิด วิธีการคลอด ลักษณะของส่วนนำ ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์และภาวะแทรกซ้อนขณะคลอด ส่วนปัจจัยอื่นๆ ไม่มีผลต่อการเกิดภาวะขาดออกซิเจนในทารกแรกเกิด
จากการค้นพบดังกล่าวสามารถนำไปเป็นแนวทางในการลดภาวะขาดออกซิเจนในทารกแรกเกิดได้โดย อาศัยการทำงานเป็นทีม ระหว่างคลินิกฝากครรภ์ ห้องคลอด เวชปฏิบัติครอบครัว สูตินรีแพทย์ และกุมารแพทย์ โดยต้องมีการเตรียมความพร้อมของมารดาตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ ขณะตั้งครรภ์ และขณะคลอด และมีการทำงานเชิงรุกเข้าถึงชุมชน เพื่อรณรงค์ให้หญิงวัยเจริญพันธ์ตั้งครรภ์เมื่อพร้อม มีการเฝ้าระวังทุกระยะตั้งแต่ตั้งครรภ์ จนถึงคลอด รวมทั้ง การพัฒนาด้านการให้ข้อมูลคำแนะนำแก่หญิงตั้งครรภ์ และวางแผนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่มีส่วนในการดูแลมารดาทารก เพื่อให้การดูแลมารดาและทารกอย่างมีคุณภาพ