การวิจัยเรื่องปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการใช้อุปกรณ์ป้องกันร่างกายจากสิ่งคัดหลั่งของผู้ป่วยขณะทำหัตถการ/การพยาบาล ของพยาบาล โรงพยาบาลปราสาท จังหวัดสุรินทร์ปี 2555 นี้เป็นการวิจัยเชิงวิเคราะห์ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์ป้องกันร่างกายจากสิ่งคัดหลั่งของผู้ป่วยและศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการใช้อุปกรณ์ป้องกันร่างกายจากสิ่งคัดหลั่งของผู้ป่วยขณะทำหัตถการ/การพยาบาล ของพยาบาลโรงพยาบาลปราสาท จังหวัดสุรินทร์กลุ่มตัวอย่างคือ พยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานประจำในแผนกผู้ป่วยใน ห้องคลอด ห้องผ่าตัดและแผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ทั้งหมด 67 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ แบบสอบถาม ซึ่งประกอบด้วยข้อมูล 4 ส่วน คือ ข้อมูลทั่วไป แบบวัดความรู้ แบบวัดทัศนคติและแบบวัดผลการปฏิบัติ ซึ่งผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญและทดสอบความเชื่อมั่นโดยวิธีอัลฟาของบรอนบาค(Cronbach’s Coefficient + Alpha) ความรู้ทัศนคติและการปฏิบัติมีค่าเท่ากับ 0.68, 0.68และ0.69 ตามลำดับเก็บข้อมูลจากแบบสอบถามตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2555 – 25 พฤศจิกายน 2555 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนาได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและสถิติวิเคราะห์ได้แก่ Chi-square test
ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความรู้ระดับสูงร้อยละ 83.6มีคะแนนทัศนคติในเรื่องการใช้อุปกรณ์ป้องกันร่างกายระดับสูงร้อยละ 92.5มีพฤติกรรมการใช้อุปกรณ์ป้องกันร่างกายระดับดีร้อยละ79.1และพบว่าปัจจัยต่างๆ ได้แก่ ความรู้ ทัศนคติ เพศ อายุ อายุการทำงาน ระดับการศึกษา แผนกที่ปฏิบัติงาน การศึกษาอบรมด้านการป้องกันการติดเชื้อ/การใช้อุปกรณ์ป้องกันร่างกายประสบการณ์การสัมผัสสิ่งคัดหลั่ง/ สิ่งคัดหลั่งกระเด็นเข้าตา จมูก ปาก หรือถูกของมีคมทิ่มตำประสบการณ์การการเจ็บป่วยจากการสัมผัสสิ่งคัดหลั่ง และประสบการณ์ได้รับยาต้าน ยารักษาหรือป้องกันโรคจากการสัมผัสสิ่งคัดหลั่ง ไม่มีความสัมพันธ์กับการใช้อุปกรณ์ป้องกันร่างกายของกลุ่มตัวอย่าง
จากการค้นพบดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ควรมีการอบรมให้ความรู้แก่กลุ่มตัวอย่างและบุคลากรอื่นๆในโรงพยาบาล โดยเฉพาะบุคลากรใหม่ เพื่อให้มีความรู้ในใช้อุปกรณ์ป้องกันร่างกายที่ถูกต้องและสร้างทัศนคติที่ดีต่อการใช้อุปกรณ์ป้องกันร่างกาย